SEM ย่อมาจาก Search Engine Marketing คือ การทำการตลาดออนไลน์ผ่านเครื่องมือค้นหา เช่น Google โดยแบ่งได้เป็น SEO (Search Engine Optimization) และ PPC (Pay Per Click) โดยทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันตรงวิธีการทำการตลาด
"SEM" ย่อมาจากคำว่า "Search Engine Marketing"
เป็นการผสมคำกันระหว่างคำว่า "Search Engine" ซึ่งก็คือเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ต เช่น Google, Yahoo!, Bing
และคำว่า "Marketing" หรือ การตลาด ดังนั้น คำว่า "SEM" หรือ
"Search Engine Marketing" จึงหมายถึง
"การทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ต" นั่นเอง
SEM (Search Engine Marketing) ประกอบไปด้วยในส่วนของ Paid Search หรือ Search Advertising ซึ่งเป็นส่วนของโฆษณาที่มีค่าใช้จ่ายเป็นรายคลิกในรูปแบบของ "PPC (Pay Per Click)" และในส่วนของ Organic Search หรือ Natural Search ซึ่งเป็นส่วนผลการค้นหาจากระบบของ Search Engine โดยเรียกการทำการตลาดในส่วนนี้ว่า "SEO (Search Engine Optimization)"
Search Engine ที่ใช้กันทั่วไปนั้น มีอาทิ Google, Bing, Yahoo!, Yandex และ Baidu โดย Google ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย เรียกได้ว่ามีส่วนแบ่งในการตลาดกว่า 90% เลยทีเดียว ส่วนในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวันนิยมใช้ทั้ง Google และ Yahoo! สำหรับในรัสเซียนั้นใช้ Yandex และในประเทศจีนใช้ Baidu
แม้ว่าจะมี Search Engine หลากหลายบริษัท แต่หลักการทำงานนั้นก็ไม่ต่างกัน โดยเริ่มจากเมื่อเราป้อน Keyword (คีย์เวิร์ด) ลงในช่องค้นหา Search Engine จะประมวลผลและแสดงออกมาเป็นรายการของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตรงกับ Keyword นั้นๆ ไว้ใน Search Result Page (หน้าแสดงผลการค้นหา)
ยิ่งเว็บไซต์อยู่ในอันดับที่ดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มีคนเปิดเข้าไปดูมากขึ้นเท่านั้น และนำมาซึ่งยอดผู้ใช้บริการหรือยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองผู้ที่มีเว็บไซต์จึงต้องทำ SEM เพื่อโปรโมทให้เว็บไซต์ติดอันดับอยู่ในหน้าแรกเวลาค้นหา
การทำ SEM เป็นการทำการตลาดออนไลน์บน Search Result Page (หน้าแสดงผลการค้นหา) โดยการทำโปรโมชั่นกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ใช้งาน Search Engine เพื่อให้รู้จักเว็บไซต์ สินค้า หรือบริการของเรา และนำมาซึ่งยอดผู้ใช้เว็บไซต์และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการให้มากยิ่งขึ้น
เนื่องจากในปัจจุบันมีเว็บไซต์อยู่มากมาย การทำ SEM จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เว็บไซต์ของเราแข่งขันกับคู่แข่งได้ อีกทั้งการทำ SEM ยังเป็นการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย เพราะในการค้นหาข้อมูลในแต่ละครั้งของผู้ใช้ Search Engine จำเป็นต้องใช้ Keyword เป็นตัวกำหนดขอบเขต
ตัวอย่างหน้าผลการค้นหาของ Google.co.th โดย Keyword คำว่า "รับทำ seo"
การทำ SEM (Search Engine Marketing) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
SEO คือ การเพิ่มอันดับของเว็บไซต์ในส่วนของผลการค้นหาทั่วไป ซึ่งเรียกว่า Organic Search หรือ Natural Search ในหน้า Search Result Page โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามกฎของ Search Engine นั้นๆ รวมทั้งการสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ไปจนถึงการเพิ่ม Backlinks ที่มีคุณภาพมายังเว็บไซต์ เพื่อให้ Search Engine แสดงเว็บไซต์ในอันดับที่ดีที่สุด
โดยทั่วไปแล้ว การทำ SEO จะอ้างอิงกฎของ Google เนื่องจากเป็น Search Engine ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก นอกจากนี้ Google ยังมีการอัปเดต Algorithm ที่ใช้จัดอันดับอยู่ตลอด เพื่อจัดการกับเว็บไซต์ที่ไม่มีคุณภาพและเพื่อให้ผลการค้นหาตรงตามที่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการดูแลปรับปรุงเว็บไซต์และเนื้อหาอยู่ตลอด
PPC คือ การซื้อพื้นที่โฆษณาในส่วนของ Paid Search หรือ Search Advertising ซึ่งอยู่ในหน้า Search Result Page เช่นกัน แต่ในส่วนนี้ผู้ลงโฆษณาต้องจ่ายเงินให้กับ Search Engine เมื่อมีการคลิกเปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ ซึ่งผู้ให้บริการหลักๆ ก็คือ Google Ads นั่นเอง
PPC มีข้อแตกต่างกับ SEO ตรงที่สามารถแสดงผลในหน้าแรกของ Search Engine ได้ง่ายและรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างในเว็บไซต์ เพียงแค่ประมูล Keyword ที่ต้องการมา เว็บไซต์ก็สามารถแสดงอยู่ในอันดับต้นๆ ได้ ทั้งนี้เมื่อหยุดลงโฆษณาแล้ว เว็บไซต์ก็จะหายไปจากโฆษณาทันที
PPC และ SEO ถือได้ว่าเป็นการทำการตลาดบน Search Engine ทั้งคู่ แต่ในบางแหล่งข้อมูล SEM จะหมายถึงในส่วนของ PPC ซึ่งเป็นการซื้อโฆษณาเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ก็ต้องใช้ Keyword เป็นตัวกำหนดเหมือนกัน และต้องมีหน้าเว็บไซต์รองรับเพื่อให้คนเข้าชมข้อมูลได้ โดยมีรายละเอียดวิธีการทำและจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่าทั้ง SEM, PPC และ SEO นั้นมีความเหมือนและแตกต่างกัน รวมทั้งมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามจุดประสงค์และงบประมาณ หรือจะทำควบคู่กันไปเพื่อประสิทธิภาพในการทำการตลาด และเพื่อให้สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากที่สุด