วิธีทําให้ Google หาเว็บเราเจอ ช่วยเพิ่มคนเข้าเว็บและสร้างยอดขาย
ประเด็นสำคัญ
- วิธีทําให้ Google หาเว็บเราเจอ เริ่มต้นจากการทำเว็บไซต์ให้ Googlebot เข้ามาเก็บข้อมูลในหน้าเว็บได้ และจัดเก็บไว้ฐานข้อมูลหรือที่เรียกว่า “Index”
- แต่การทําให้ Google หาเว็บเราเจอนั้นเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นเท่านั้น การที่จะทำให้หน้าเว็บติดอันดับต้นๆ เพื่อให้มีคนเข้าชมเว็บและสร้างยอดขายได้ ยังมีกระบวนการอีกมากมาย
ยุคนี้สมัยนี้เมื่อคนต้องการหาข้อมูลเพื่อจองหรือซื้ออะไรสักอย่าง ก็ต้องค้นหาข้อมูลใน Google ถ้าหากเว็บของเราไม่ได้ขึ้นอันดับต้น ๆ บนผลการค้นหา และไม่ได้ลงโฆษณาออนไลน์ โอกาสที่จะมีคนเข้าเว็บก็แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ และโอกาสที่จะสร้างยอดขายก็น้อยตามลงไปอีก เจ้าของเว็บหลายคนอาจจะมีคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เพิ่งเปิดเว็บไซต์ใหม่ ว่ามีวิธีทําให้ Google หาเว็บเราเจอได้ยังไง ไปจนถึงว่าทำยังไงถึงจะติดอันดับแรก ๆ อีกด้วย ในบทความนี้ AUN Thai จะมาไขข้อสงสัยทั้งหมดนี้แบบละเอียดเลย
หัวข้อเนื้อหา
หลักการทำงานของ Google Search
ก่อนอื่นเราควรทำความรู้จักเกี่ยวกับวิธีการทำงานของ Google Search แบบเบื้องต้นก่อน เพื่อให้เข้าใจหลักการในการจัดเก็บข้อมูลและจัดอันดับเว็บไซต์ในหน้าผลการค้นหา โดยขั้นตอนการทำงานของ Google สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. Crawling
Google จะค้นหาหน้าเว็บใหม่ ๆ หรือที่มีการอัปเดต โดยใช้โปรแกรมอัตโนมัติ “Crawler” หรือที่เรียกกันว่า “Googlebot” (หรือชื่ออื่น ๆ เช่น Bot, Robot, Spider) และเก็บที่อยู่ (URL) ของหน้าเว็บนั้นไว้ในลิสขนาดใหญ่ โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า “URL discovery” ซึ่งวิธีการหลัก ๆ ที่ Google จะค้นพบหน้าเว็บต่างๆ ได้ ก็คือไต่ตามลิงก์จากหน้าเว็บต่างๆ ที่รู้จักอยู่แล้วนั่นเอง
2. Indexing
Google จะไปที่หน้าเว็บที่รู้จักจากการ Crawling และวิเคราะห์ว่าแต่ละหน้าเกี่ยวข้องกับอะไร โดยดูจาก Tag สำคัญของหน้าเว็บ เช่น <title>Tag , alt Attribute รวมถึงเนื้อหา รูปภาพ และไฟล์วิดีโอที่อยู่ในหน้าเว็บ หลังจากนั้นก็จะทำการ “Index” เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่มากที่เรียกว่า “Google Index”
3. Ranking
Google จะใช้ “อัลกอริทึม (Algorithm)” ซึ่งมีหลายร้อยปัจจัยในการจัดอันดับหน้าเว็บเมื่อมีผู้ใช้ค้นหาผ่าน Google Search เพื่อนำเสนอผลการค้นหาที่ “มีคุณภาพมากที่สุด” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคำค้นหาและตอบโจทย์ผู้ใช้งาน โดยพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่ง ภาษา อุปกรณ์ (Desktop หรือ Mobile) และคำค้นหาก่อนหน้านี้ของผู้ใช้รายนั้น ๆ
วิธีตรวจสอบว่า Google หาเว็บเราเจอแล้วหรือยัง
หากต้องการเช็คว่า Google หาเว็บเราเจอและเก็บไว้ในฐานข้อมูล Google Index แล้วหรือยัง สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. ค้นหาด้วย URL ตรง ๆ
ให้ไปที่ Google แล้วค้นหาด้วย URL ของหน้าเว็บที่ต้องการเช็คไปตรง ๆ เช่น https://aun-thai.co.th/what-is-sem/seo/
หากมี URL นี้อยู่ในผลการค้นหา แสดงว่า Google ได้ Index หน้าเว็บนั้นเรียบร้อยแล้ว
2. ค้นหาด้วย site:
ให้ไปที่ Google แล้วค้นหาด้วย site: ตามด้วยชื่อโดเมน เช่น site:aun-thai.co.th
หากมีผลการค้นหาที่เป็นหน้าเว็บของเราขึ้นมา แสดงว่า Google ได้ Index เว็บไซต์นั้นเรียบร้อยแล้ว คำว่า “ผลการค้นหาประมาณ” ที่แสดงอยู่ด้านบน ก็คือ จำนวนหน้าเว็บโดยประมาณที่ Index แล้วนั่นเอง
※หากต้องการเช็คจำนวน Index ที่แน่นอนแนะนำให้ใช้ Google Search Console ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป
3. ตรวจสอบโดย Google Search Console
ให้ติดตั้ง Search Console ซึ่งเป็นเครื่องมือฟรีจาก Google ที่ใช้ตรวจสอบ ดูแล และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการค้นหาของ Google โดยสามารถใช้ฟังก์ชันตรวจสอบการ Index ได้
- Page indexing สำหรับดูจำนวนหน้าเว็บที่ Google ได้ทำการ Index และยังไม่ Index พร้อมสาเหตุ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข
- URL Inspection สำหรับตรวจสอบ Index ของ URL ที่ต้องการ พร้อมแสดงข้อมูลการ Index ของหน้านั้น ๆ โดยละเอียด
วิธีการทําให้ Google หาเว็บเราเจอ
การที่ Google รู้จักหน้าเว็บของเราจากการ Crawling ถือว่าไม่ได้เจอหน้าเว็บเราจริง ๆ ถ้าหากยังไม่ได้ Index ไว้ในฐานข้อมูล ซึ่ง Google อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ถ้าหากเช็คแล้วว่า Google ยังไม่ Index หน้าเว็บใหม่ของเรา หรือต้องการให้ Google เจอเว็บไซต์ของเราได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดใหม่ เราก็มีวิธีการมาแนะนำดังนี้
1. นำโค้ดที่บล็อกการอ่านของ Google ออก
เว็บไซต์ที่เพิ่งทำใหม่มักจะมีการป้องกันไม่ให้ Googlebot เข้ามาในระหว่างที่กำลังทำเว็บไซต์ ด้วยการใส่โค้ด noindex ในหน้าเว็บ หรือการใช้คำสั่ง Disallow ในไฟล์ robots.txt รวมถึงการทำระบบ Login ถ้ามีการใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ เมื่อเปิดใช้งานเว็บไซต์แล้ว ต้องอย่าลืมนำออก
2. สร้าง XML Sitemap
XML Sitemap เป็นไฟล์ที่รวบรวม URL ต่าง ๆ ในเว็บไซต์ เพื่อให้ Googlebot เข้ามาเก็บข้อมูลได้ง่าย สามารถสร้างได้โดยการเขียนโค้ดเอง หรือใช้เครื่องมือ เช่น XML Sitemap Generator หรือถ้าหากใช้ CMS อย่าง WordPress ก็จะมี Plugin ที่ช่วยสร้าง XML Sitemap ได้อัตโนมัติ เช่น Yoast, Rank Math
3. เพิ่ม Sitemap ใน Search Console
หลังจากที่สร้างไฟล์ XML Sitemap ไว้ในเว็บไซต์และติดตั้ง Search Console แล้ว ให้นำ URL ของไฟล์นั้น เช่น https://aun-thai.co.th/sitemap_index.xml ไปเพิ่ม ในฟังก์ชัน Sitemaps ของ Search Console เพื่อเป็นการแจ้งกับ Google
4. ทำลิงก์จากเว็บไซต์อื่นมายังเว็บไซต์ของเรา
เนื่องจาก Googlebot จะค้นพบหน้าเว็บใหม่ ๆ ได้ง่ายจากการไต่ตามลิงก์จากหน้าเว็บที่รู้จักอยู่แล้ว หากสามารถเพิ่มลิงก์จากเว็บไซต์ที่เปิดใช้งานมาก่อน มีการอัปเดตอยู่ตลอด และเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้งานจริง ก็จะเพิ่มโอกาสที่ Google จะค้นพบเว็บไซต์ของเราได้เร็วขึ้น
5. สร้างคอนเทนต์ในหน้าเว็บให้มีคุณภาพ
แม้ว่า Google จะค้นพบหน้าเว็บของเราแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะไม่ Index หรือจัดเก็บหน้าเว็บนั้นไว้ในฐานข้อมูลได้ ปัจจัยสำคัญคือ “คุณภาพของคอนเทนต์” หากหน้าเว็บไม่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เช่น มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาที่เป็นข้อความ หรือมีเนื้อหาน้อยเกินไป รวมถึงมีเนื้อหาที่ซ้ำกับหน้าเว็บอื่น Google ก็อาจจะมองข้าม ไม่ Index หน้าเว็บได้ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก Duplicate Content คืออะไร)
วิธีทําให้หน้าเว็บติดอันดับ Google
การทําให้ Google หาเว็บเราเจอ เป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้นที่จะทำให้หน้าเว็บติดอันดับเท่านั้น แต่การที่จะเพิ่มคนเข้าชมและยอดขายได้ จะต้องทำให้หน้าเว็บของเราขึ้นไปอยู่บนอันดับแรก ๆ ในผลการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดเป้าหมาย ซึ่งวิธีการที่จะทำให้หน้าเว็บติดอันดับหน้าแรก Google ได้นั้นเรียกว่า “การทำ SEO (Search Engine Optimization)” เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ให้เป็นไปตามอัลกอริทึมของ Google โดยสามารถสรุปขั้นตอนสำคัญ ๆ ได้ดังนี้
1. เลือกคีย์เวิร์ดให้เหมาะสม
การที่จะทำให้หน้าเว็บแสดงขึ้นมาได้นั้น ตัวกำหนดที่สำคัญก็คือคำค้นหาผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า “คีย์เวิร์ด (Keyword)” ซึ่งก่อนที่เริ่มทำ SEO แนะนำให้ทำ Keyword Research เพื่อหาคีย์เวิร์ดที่เหมาะสม โดยมีหลักสำคัญในการเลือกคีย์เวิร์ดดังนี้
✔️ มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา
ควรเลือกคีย์เวิร์ดในการทำ SEO จากธุรกิจของเราก่อน เช่น คีย์เวิร์ดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เพื่อให้หน้าเว็บนั้น ๆ ติดอันดับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคนเข้าชม มีโอกาสสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคีย์เวิร์ดที่สามารถปิดการขายได้มาก ส่วนใหญ่จะเป็นคีย์เวิร์ดที่มีจุดประสงค์ของการค้นหาหรือที่เรียกว่า “Search Intent” เป็น Transactional Keyword ซึ่งมักจะมีคำว่า ซื้อ, จอง, ราคา, รับ… เป็นต้น
✔️ เป็นคีย์เวิร์ดที่มีคนใช้ค้นหา
ดูได้จากเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Google Keyword Planner หากเป็นคำกว้าง ๆ ที่มีปริมาณการค้นหา (Search Volume) มาก ก็มักเป็นคำที่มีการแข่งขันสูง โอกาสที่จะขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ ก็จะยากกว่า ถ้าเป็นเว็บไซต์ใหม่ แนะนำให้เลือกคีย์เวิร์ดที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจมีจำนวนการค้นหาไม่มากนัก แต่มีโอกาสทำให้ติดอันดับได้ง่ายกว่า
✔️ ดูคู่แข่งที่ติดอันดับแรก ๆ
ให้เข้าไปดูหน้าเว็บของคู่แข่ง เพื่อประเมินความยากง่ายในการติดอันดับของคีย์เวิร์ดนั้น ๆ หากมีแต่เว็บไซต์ใหญ่ ๆ ดัง ๆ โอกาสที่เว็บไซต์เล็ก ๆ หรือเพิ่งเปิดใหม่ที่ยังไม่มีคนรู้จัก ก็อาจจะแข่งขันได้ยาก หากเพิ่งเริ่มทำ SEO ควรจะเริ่มจากคีย์เวิร์ดที่ง่ายและมีโอกาสติดอันดับได้ก่อน
💡เรื่องน่ารู้
- ในหน้าเว็บ 1 หน้านั้น ควรมีคีย์เวิร์ดหลัก (Focus Keyword) 1 คำ และมีคีย์เวิร์ดรอง (Related Keyword) ที่มีความเกี่ยวข้องกันได้หลายคำ
- ในแต่ละหน้าก็ควรกำหนดคีย์เวิร์ดหลักให้แตกต่างกันไป เพื่อให้สามารถทำคอนเทนต์ได้ตรงกับคีย์เวิร์ดนั้น ๆ มากที่สุด และเพื่อให้หน้าเว็บที่ต้องการติดอันดับที่ดีที่สุด
2. ปรับเว็บไซต์ให้เป็นมิตรกับ Google
หน้าเว็บที่สามารถติดอันดับได้ใน Google ได้ดี จะต้องใช้โครงสร้างเว็บไซต์ที่ Google สามารถเก็บข้อมูลและรวบรวมเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์ใหม่ ๆ และเว็บไซต์ที่ไม่ได้ปรับแต่งด้าน SEO มาก่อนมักพบปัญหาหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
❌ ไม่มีคีย์เวิร์ดหลักใน Tag สำคัญของหน้าเว็บ
รวมทั้งไม่ได้ใส่ข้อความใน Tag และใส่ข้อความเดียวกันซ้ำกันทุกหน้า ได้แก่
- Title Tag เป็นชื่อเรื่องของหน้าเว็บนั้น ๆ โดยปรากฏเป็นลิงก์หัวข้อบนผลการค้นหา
→ แนะนำให้ใส่ชื่อเรื่องที่ดูน่าสนใจ พร้อมใส่คีย์เวิร์ดหลัก ความยาวไม่เกิน 65 ตัวอักษร (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วิธีการเขียน Title Tag) - Meta Description เป็นคำบรรยายของหน้าเว็บบนหน้าผลการค้นหา โดยจะมีการไฮไลท์สีแดงตรงคำที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหาให้ด้วย
→ แนะนำให้ใส่คำบรรยายเป็นการสรุปเนื้อหาในหน้าเว็บ ความยาวไม่เกิน 145 ตัวอักษร (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วิธีการเขียน Title Tag) - H1 Tag เป็นหัวข้อหลักของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ และเป็น Tag ที่ต้องมีในทุกหน้า โดยจะต้องปรากฎอยู่ด้านบนของหน้าเว็บแต่ละหน้าเพียง 1 จุดเท่านั้น (H2 – H3 มีหลาย Tag ได้ แต่ต้องอยู่ต่ำกว่า H1)
→ แนะนำให้เพิ่มคีย์เวิร์ดหลัก สามารถใช้เป็นข้อความเดียวกับ Title Tag ได้
❌ ใช้ AJAX ที่มีการ Render คอนเทนต์มาทีหลัง
การใช้ AJAX ในการแสดงข้อมูลสำคัญบนหน้าเว็บอย่างรายการสินค้า ทำให้ Google ไม่สามารถอ่านเนื้อหาในส่วนนั้นได้ และมองเห็นเป็นหน้าจอเปล่า ๆ
→ แนะนำให้ใช้เป็นการเขียนด้วย HTML ธรรมดา หรือเปลี่ยนวิธีเขียนให้ Render HTML ไว้ล่วงหน้า
❌ ใช้ Cookies ในการเปลี่ยนภาษาของหน้าเว็บ
การกำหนดการเปลี่ยนภาษาด้วย Cookies จะทำให้ URL ไม่เปลี่ยนตามไปเมื่อเปลี่ยนเป็นอีกภาษา ทำให้ Google ไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลเนื้อหาในภาษาอื่น ๆ ได้นอกจากภาษาตั้งต้น
→ แนะนำให้แยก URL สำหรับแต่ละภาษา เช่น …/en/, …/jp/
❌ ใส่ Canonical Tag ไม่ถูกต้อง
การใส่ Canonical Tag ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่ URL ซ้ำกันทุกหน้า หรือใส่ URL เป็นหน้าอื่น ทำให้ Google ไม่สามารถจดจำหน้าเว็บที่ถูกต้องได้
→ แนะนำให้ตรวจสอบ URL ใน <link rel=”canonical” href=”URL” /> ของแต่ละหน้าเว็บว่าตรงกับหน้าที่ต้องการให้ Google จดจำหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วิธีการใช้ Canonical Tag)
❌ หน้าเว็บโหลดช้าเกินไป
เกิดได้จากหน้าเว็บที่มีไฟล์ขนาดใหญ่เกินไป มีรูปภาพเยอะเกินไป รวมถึงการใช้ Hosting ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ล่มงาย ทำให้ Google ไม่สามารถเข้ามาเก็บข้อมูลได้
→ แนะนำให้ตรวจสอบโดยเครื่องมือ Google PageSpeed Insights เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้หน้าเว็บโหลดช้า
💡เรื่องน่ารู้
- ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ Technical SEO หากเราไม่มีความรู้ด้านการแก้ไขเว็บไซต์ ควรปรึกษาผู้ที่ทำเว็บไซต์ให้หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO
- สามารถปรึกษาแนวทางการทำการตลาดเบื้องต้นด้วย SEO โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ กับบริษัท อาอุน ไทย ได้ที่ ติดต่อฝ่ายขาย
3. ปรับเว็บไซต์ให้เป็นมิตรกับ User
ในการทำให้หน้าเว็บติดอันดับ นอกจากจะต้องคำนึงถึง Google แล้ว ยังต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานจริง ๆ ซึ่งสิ่งสำคัญนั้นก็คือ “การมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด (User Experience)” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ Google นำไปใช้เป็นปัจจัยหลักในการจัดอันดับหน้าเว็บ โดยมีแนวทางในการปรับปรุงเว็บไซต์ดังนี้
✔️ ติดตั้ง SSL Certificate
หากเว็บไซต์ยังเป็น HTTP ธรรมดา แนะนำให้ติดต่อผู้ให้บริการ Hosting สำหรับการติดตั้ง SSL Certificate เพื่อทำ HTTPS (อาจมีค่าบริการเพิ่มเติม) หากไม่ได้ติดตั้ง Browser จะเตือนว่าเว็บไซต์นี้ไม่ปลอดภัย อาจทำให้ User ไม่กล้าเปิดเว็บไซต์
✔️ ปรับหน้าเว็บไซต์โดยคำนึงถึงหลัก UX/UI Design
ควรออกแบบหน้าเว็บให้สวยงามและใช้งานง่าย ให้ User อยากกลับมาใช้งานอีก เช่น การใช้สีสัน รูปแบบและขนาดฟอนท์ตัวหนังสือ การวางเนื้อหาในหน้าเว็บและรูปภาพ ไปจนถึงรองรับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ
✔️ ปรับคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ User
ควรปรับคอนเทนต์ให้ตรงจุดประสงค์ของการค้นหา (Search Intent) ว่าควรทำคอนเทนต์แบบไหน เพื่อให้อัลกอริทึมของ Google ดึงไปแสดงในผลการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่ต้องการให้ติดอันดับ
✔️ สร้างคอนเทนต์โดยยึดหลัก E-E-A-T
E-E-A-T (Experience, Expertise, Authoritativeness, Trustworthiness) เป็นเกณฑ์การวัดคุณภาพเว็บไซต์ของ Google โดยเขียนเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้อง มีเนื้อหาเชิงลึก และที่สำคัญคือไม่คัดลอกมาจากเว็บไซต์อื่น หรือแม้แต่การใช้ AI ช่วยเขียนโดยไม่ได้มีการปรับเนื้อหา ทำให้ผู้ใช้งานจริง ๆ อ่านแล้วรู้สึกว่าภาษาไม่เป็นธรรมชาติ
✔️ แบ่งหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยด้วย H Tag
ควรแบ่งหัวข้อเพื่อให้ทั้ง User และ Google เข้าใจเนื้อหาได้ในหน้าเว็บได้ง่าย หากเป็นหัวข้อหลักควรใช้ H2 และหัวข้อย่อยของหัวข้อหลัก ให้ใช้ H3 ตามด้วย H4, H5 และ H6 ตามลำดับชั้น
✔️ เพิ่มปุ่ม Call to Action ที่ชัดเจน
ควรเพิ่มปุ่ม Call to Action (CTA) เพื่อกระตุ้นความสนใจและอยากให้ User ทำอะไรต่อ พร้อมช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขาย เช่น สั่งซื้อเลย จองเลย ติดต่อ ดาวน์โหลด ลงทะเบียนฟรี
💡เรื่องน่ารู้
- แนะนำให้ติดตั้ง Google Analytics 4 ซึ่งเป็นเครื่องมือฟรีจาก Google เพื่อดูข้อมูลผู้ใช้งานเว็บไซต์แบบเชิงลึก และนำมาใช้ปรับปรุงเว็บไซต์และคอนเทนต์ เช่น มีคนเข้าเว็บไซต์เท่าไหร่ มาจากช่องทางไหน หน้าเว็บอะไรที่คนดูเยอะที่สุด
- สามารถสร้าง Event ด้วย Google Analytics 4 ในการติดตามการคลิกปุ่ม Call to Action ที่สร้างไว้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในด้านการทำการตลาดและพัฒนาเว็บไซต์ต่อไปได้อีกด้วย
4. โปรโมทเว็บไซต์และสร้างความน่าเชื่อถือ
เมื่อมีเว็บไซต์ที่ถูกหลัก SEO และคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการโปรโมทเว็บไซต์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ก็จะช่วยทำให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จัก มีคนเข้าชมเว็บอย่างสม่ำเสมอ และส่งผลดีต่อการทำ SEO พร้อมทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการขายได้อีกด้วย โดยรูปแบบโฆษณาที่แนะนำสำหรับเว็บเปิดใหม่ก็มีดังนี้
✔️ ลงโฆษณาออนไลน์กับ Google
การลงโฆษณาออนไลน์กับ Google ช่วยเพิ่มคนเข้าเว็บไซต์ได้ในระหว่างที่รอติดอันดับ
- Google Search Ads เป็นข้อความโฆษณาหน้าเว็บของเราในอันดับต้น ๆ ของผลการค้นหาคีย์เวิร์ดที่ต้องการได้ในทันที และจะจ่ายค่าโฆษณาก็ต่อเมื่อมีคนคลิกเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมได้จาก บริการ Search Ads)
- Google Display Network (GDN) เป็นโฆษณาในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ โดยเลือกได้ทั้ง ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก บริการ (GDN))
✔️ ทำ Content Marketing
การทำ Content Marketing จะช่วยสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยสามารถทำได้ทั้ง 2 รูปแบบ คือ
- Blog Content เป็นบทความขนาดยาว สำหรับลงในบล็อกของเว็บไซต์ โดยเลือกเขียนหัวข้อที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา และเลือกคีย์เวิร์ดที่มีคนค้นหา เพื่อให้เพิ่มยอดคนเข้าเว็บได้ หากติดอันดับ Google นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มลิงก์เกี่ยวข้องไปยังหน้าเว็บอื่น ๆ ที่ต้องการดันอันดับได้
- Social Media Content เป็นเนื้อหาสั้น ๆ และอาจประกอบด้วยรูปภาพหรือวิดีโอ สำหรับใช้แชร์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook และสามารถแนบลิงก์ให้คนเข้าไปอ่านบทความเต็ม ๆ หรือดูรายละเอียดสินค้าบริการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา
✔️ เพิ่ม Backlink คุณภาพมายังเว็บไซต์
แนะนำเป็นการทำบทความที่มีประโยชน์และเกี่ยวข้อง พร้อมติดลิงก์ไปยังหน้าเว็บของเราที่ต้องการดันอันดับโดยใช้ Anchor Text ที่แทรกคีย์เวิร์ด แล้วนำไปลงในเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน เราอาจโพสบทความได้ฟรีหรือมีค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับนโยบายของเว็บไซต์นั้น ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วิธีการทำ Backlink)
5. อัปเดตเว็บไซต์อยู่เสมอ
ถึงแม้ว่าเว็บไซต์ของเราจะติดอันดับดี ๆ แล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องอัปเดตเว็บไซต์อยู่เสมอ ต้องอย่าลืมว่าเรามีคู่แข่งอยู่มากมาย และยังมีคู่แข่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด Google เองก็ชอบคอนเทนต์ที่มีความสดใหม่เช่นกัน หน้าเว็บเก่าที่มีข้อมูลไม่อัปเดต ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป จนอันดับตกไปไกล เพื่อให้หน้าเว็บของเราติดอันดับได้ดีและยั่งยืน ก็มีแนวทางในการอัปเดตเว็บไซต์ดังนี้
✔️ เพิ่มบทความใหม่ ๆ และข่าวสาร
ควรอัปเดตบทความและข่าวสารเพื่อให้เว็บไซต์มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่ปล่อยจนคนสงสัยว่าเรายังเปิดให้บริการอยู่หรือไม่
✔️ ปรับปรุงเนื้อหาที่เคยลงไปแล้วในหน้าเว็บ
หากมีข้อมูลใหม่ ๆ หรือหากพบจุดที่สามารถพัฒนาคอนเทนต์ให้มีเนื้อหาครบถ้วนยิ่งขึ้นได้ ให้นำมาอัปเดตในเว็บไซต์ จะช่วยในการรักษาอันดับและดันอันดับของหน้าเว็บให้ดีขึ้นได้
✔️ อัปเดตเว็บไซต์เพื่อความปลอดภัย
หากใช้ระบบ CMS เช่น WordPress จะต้องมีการอัปเดตตัว Core, Theme และ Plugin อยู่ตลอด เพื่อป้องกันการแฮกจากผู้ไม่ประสงค์ดี และเพื่อเพิ่มฟังก์ชันหรือแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ
สรุป
ทั้งหมดนี้คือวิธีทําให้ Google หาเว็บเราเจอ พร้อมด้วยวิธีทําให้ติดอันดับแรก ๆ ในหน้าผลการค้นหา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์จากช่องทาง Organic Search และเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย ซึ่งถ้า Google ไม่สามารถ Index หน้าเว็บเราได้ ก็จะไม่ติดอันดับแน่นอน และถึงแม้ว่า Google จะเจอเว็บเราแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ ในทันที ยังมีกระบวนการอีกมากมายที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ถูกหลัก SEO
หากใครต้องการที่ปรึกษาด้าน SEO บริษัท อาอุน ไทย มีบริการรับทำ SEO ซึ่งจะช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์โครงสร้างเว็บไซต์และคอนเทนต์ พร้อมให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเว็บไซต์ ให้ติดอันดับที่ดีที่สุดบน Google ลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อปรึกษาเบื้องต้นหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ติดต่อฝ่ายขาย