Do! 5 สิ่งที่ควรทำ สำหรับการเพิ่มอับดับเว็บไซต์ด้วย SEO

การทำ SEO (Search Engine Optimization) ให้เว็บไซต์ติดอันดับต้นๆ บนหน้าผลการค้นหา (Search Result Page) ของ Google นั้นมีสิ่งที่สำคัญ คือ “การทำเว็บไซต์ที่มอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ดี (Good User Experience)” ซึ่ง Google จะใช้ข้อมูลการใช้งานเหล่านี้มาเป็น “อัลกอริทึม (Algorithm)” สำคัญในการจัดอันดับเว็บไซต์ในหน้าผลการค้นหา
ในบทความนี้ เราจะขอยก 5 หัวข้อที่ “ควรทำ” หากต้องการเพิ่มอันดับให้กับเว็บไซต์ในการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยยึดหลักจากการทำเว็บไซต์ที่ดีต่อผู้ใช้งาน

✔️ อัพเดทเนื้อหาในเว็บไซต์เป็นประจำ
เว็บไซต์ที่มีการอัพเดทและเพิ่มเติมเนื้อหาสม่ำเสมอจะมีโอกาสทำอันดับใน SEO ได้ดีกว่าเว็บไซต์ที่ไม่มีการปรับปรุงใดๆ เพราะ Google ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มีความสดใหม่เพื่อนำเสนอหน้าเว็บไซต์ดีและเหมาะสมที่สุดให้กับผู้ที่คนหา คงจะไม่ดีแน่ถ้า Google นำเสนอแต่บทความที่มีแต่เนื้อหาเก่าๆ ล้าสมัยให้กับผู้ใช้ ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ที่ติดอันดับอยู่แล้วก็ยังจำเป็นต้องอัพเดทเนื้อหาเพื่อเป็นการรักษาอันดับต่อไปอีกด้วย
การใช้ระบบเว็บไซต์ที่เป็น CMS (Content Management System) อย่างเช่น WordPress นั้นจะช่วยให้อำนวยความสะดวกในอัพเดทหรือเพิ่มบทความในเว็บไซต์ แม้ไม่มีความรู้ในการเขียนโค้ดเว็บไซต์ ก็สามารถแก้ไขและเพิ่มหน้าเว็บไซต์ได้ด้วยเองอย่างง่ายดาย

✔️ สร้างบทความที่มีคุณภาพ และโปรโมทไปยังผู้ที่สนใจ
ให้เขียนเนื้อหาที่มีประโยชน์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือสนับสนุน Keyword ที่ทำ SEO พร้อมใส่ภาพประกอบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน้าเว็บดูน่าสนใจ และหากคนอื่นเห็นว่าเนื้อหาของเว็บไซต์เรามีข้อมูลที่ดี เรายังอาจจะได้รับการอ้างอิงจากเว็บไซต์อื่นซึ่งจะทำให้เราได้ Backlinks ที่มีคุณภาพกลับมา ซึ่งส่งผลต่อการทำอันดับของเว็บไซต์ใน SEO ได้เป็นอย่างดี
เมื่อลงบทความในเว็บไซต์แล้ว ก็ให้นำบทความไปโปรโมทใน Social Network ด้วยการแชร์ลิงค์ใน Facebook, Twitter, Google+ เป็นต้น เพื่อให้มีคนเข้ามาอ่าน หากต้องการเข้าถึงผู้อ่านให้มากขึ้น ก็สามารถซื้อโฆษณากับ Facebook ก็ได้ ซึ่งเป็นการโปรโมทบบทความที่มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถกำหนดเป้าหมายได้และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากจะช่วยเพิ่มคนเข้ามาอ่านบทความแล้ว ยังเป็นการโปรโมทให้คนอื่นได้รู้จักแบรนด์หรือเว็บไซต์ของเราได้ด้วย หรือที่เรียกว่าการทำ “Content Marketing” นั่นเอง
นอกจากนี้ การที่บทความมีคนเข้ามาอ่าน และเว็บไซต์มีคนเข้าชม (Traffic) อย่างสม่ำเสมอนั้นสามารถช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับ SEO เร็วขึ้นอีกด้วย หากไม่มี Social Network ก็สามารถลงโฆษณาบนหน้าค้นหา Google Search ผ่าน Google Ads (Google AdWords) ด้วย Keyword ที่เกี่ยวข้องกับบทความก็ได้
(*หมายเหตุ : สามารถดูข้อมูลของผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้จาก Google Analytics)

✔️ เขียน Title และ Meta Description ให้น่าคลิก
Title และ Meta Description เป็นส่วนที่จะแสดงอยู่บนหน้าผลการค้นหาด้วย Keyword บน Google หรือ Search Engine อื่นๆ ในส่วนนี้เราสามารถกำหนดเองได้ (บางครั้ง Google อาจเลือกข้อความในเว็บไซต์ขึ้นมาแสดงเอง) เทคนิคง่ายๆ คือ การใส่ Keyword ใน Title และ Meta Description ให้ตรงหรือใกล้เคียงกับ Keyword ที่ผู้ใช้มักใช้ค้นหา
(*หมายเหตุ : สามารถดู Keyword และปริมาณการค้นหาได้จาก Google AdWords – Keyword Planner)
โดย Title ก็คือชื่อเรื่องของหน้าเว็บนั้น ส่วน Meta Description คือ คำอธิบายโดยรวมหรือใจความสำคัญของหน้าเว็บนั้น หากมีเปอร์เซ็นต์การคลิกจากหน้าผลการค้นหาสูง ซึ่งเรียกว่า CTR (Click Through Rate คำนวณจากจำนวนคลิก ÷ จำนวนการแสดงผล) ก็มีโอกาสที่หน้าเว็บจะทำอันดับได้ดีกว่าเว็บที่มีค่า CTR ต่ำ เพราะแสดงว่าเว็บไซต์มีความน่าสนใจมากกว่า
(*หมายเหตุ : สามารถดูค่า CTR แต่ละ Keyword ได้จาก Google Search Console)

✔️ ทำเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile-friendly)
เว็บไซต์ในสมัยก่อนทำมารองรับเฉพาะการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ (Desktop) แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเว็บไซต์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile) เป็นจำนวนมาก ซึ่งสัดส่วนของหน้าเว็บไซต์ที่แสดงบนทั้งสองอุปกรณ์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเปิดเว็บไซต์ผ่านมือถือก็จะต้องคอยเลื่อนไปมาและต้องคอยซูมเข้าซูมออกเพื่ออ่านข้อมูล บางคนอาจจะไม่สนใจดูเว็บไซต์และเปลี่ยนไปเข้าเว็บไซต์อื่นที่อ่านข้อมูลง่ายกว่าก็ได้
หากเว็บไซต์ของคุณยังไม่เป็นแบบ “Mobile-friendly” ก็ถึงเวลาแล้วที่ควรจะทำเว็บไซต์ใหม่ เพราะ Google นั้นใช้ Mobile-friendly เป็นปัจจัยในการจัดอันดับเว็บไซต์ใน SEO อีกด้วย ซึ่งรูปแบบเว็บที่แนะนำนั้น คือ “Responsive Web Design” เป็นเทคนิคการออกแบบเว็บไซต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนขนาดของเว็บไซต์ให้เหมาะสบกับการแสดงผลบนหน้าจอขนาดต่างๆ ได้ใน URL เดียวกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม : Responsive Web Design คืออะไร?
(*หมายเหตุ : สามารถตรวจสอบว่าหน้าเว็บเป็นแบบ Mobile-friendly ได้ที่ Google Mobile-friendly Test)

✔️ จัดเว็บไซต์ให้เป็นระบบ ใช้งานง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้ (User-friendly)
ควรจัดหมวดหมู่ในเว็บไซต์ให้เป็นระบบ มีหน้าหลักซึ่งครอบคลุมเนื้อหาของทั้งเว็บไซต์ มีหมวดหมู่ย่อยรองรับใน Folder ถัดไป เช่น หน้าหลัก > หน้าสินค้ารวม > หน้าสินค้าแต่ละชิ้น ในแต่ละหน้าเว็บควรจะมีข้อมูลที่โฟกัสหัวข้อหลักหรือ Keyword ที่จะทำ SEO เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งกำหนดโดย H1 tag และแบ่งหัวข้อรองด้วย H2 tag (หากมีหัวข้อย่อยอีก สามารถใช้ H3-H6 Tag)
นอกจากนั้น ยังควรมีการทำลิงค์เชื่อมโยงไปยังหน้าอื่นๆ เพื่อที่ให้ผู้ที่สนใจกดดูข้อมูลต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Menu, Breadcrumb, Footer, ลิงค์บทความหน้าที่เกี่ยวข้อง พยายามสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดให้ผู้ใช้อยู่บนหน้าเว็บนานๆ (Avg. Time on Page) และอย่าให้ผู้ใช้กดเข้าเว็บมาแล้วออกจากหน้าเว็บนั้นไปทันที (Bounce Rate) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการทำ SEO เพราะแสดงว่าเว็บไม่มีคุณภาพ
(*หมายเหตุ : สามารถดูข้อมูลของผู้ใช้เว็บไซต์ได้จาก Google Analytics)